การช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)


เครดิต : สถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ


การกู้ชีพ หมายถึง การปฏิบัติการเพื่อช่วยฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด ที่หยุดทำงานอย่างกระทันหัน เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเองได้ตามปกติ แนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วย
1. การประเมินผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ โดยการเรียกผู้บาดเจ็บ หรือการเขย่าผู้บาดเจ็บเบาๆ หากไม่มีสติ คลำหาชีพจรไม่พบ ควรเรียกขอความช่วยเหลือหรือเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานต่าง ๆ ทันที โดยสามารถโทร 1669
2. การกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที(CPR)สำหรับอาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สามารถสังเกตได้ดังนี้
  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว (Unconsciousness)
  • ไม่หายใจ (No Breathing)
  • หัวใจหยุดเต้น (No Pulse)
  • 3. การทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ภายใน 3-5 นาที
    4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ
    5. การดูแลภายหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ

    แนวทางการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ โดยแต่เดิมมีคำแนะนำให้ทำตามลำดับ A-B-C (Airway-Breathing-Circulation) แต่ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นตอนเป็น C-A-B (Chest compression-Airway-Breathing) เนื่องจากการกดหน้าอกก่อนจะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนสำคัญ เช่น หัวใจและสมอง
    C : Chest compression คือการกดหน้าอก ปั๊มหัวใจช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง
    ให้ผู้บาดเจ็บนอนราบกับพื้นแข็ง ๆ กดหน้าอกโดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายโดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางอีกข้างทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง โดยให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วยและเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วย โดยกดลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว ความเร็วอย่างน้อย 100ครั้งต่อนาที ควรกดให้มีน้ำหนักเท่าๆกันในการกดแต่ละครั้ง
    A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เพราะโดยมากผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน
  • หากผู้ป่วยไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ จะใช้วิธีการแหงนหน้าและเชยคาง
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บของไขสันหลัง ให้ใช้วิธีการวางมือสองข้างบริเวณด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของศีรษะ
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอให้เปิดทางเดินหายใจด้วยวิธียกขากรรไกร คือ ดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปด้านบน โดยผู้ช่วยเหลือจะอยู่เหนือศีรษะของผู้ป่วย
  • B : Breathing หมายถึง การช่วยหายใจ ด้วยการรักษาระดับออกซิเจนให้เพียงพอและขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการใช้มือข้างหนึ่งปิดจมูกผู้ป่วย มืออีกข้างเชยคางผู้ป่วย แล้วทำการเบาลม โดยเบาลมยาวอย่างน้อย 1 วินาที โดยให้สังเกตุที่อกผู้ป่วยขยายแสดงว่ามีลมเข้า
    ***ทั้งนี้ในการช่วยหายใจได้กำหนดข้อปฏิบัติให้เริ่มจากการกดหน้าอก(C)ไปก่อน 30 ครั้ง แล้วจึงสลับกับการช่วยหายใจ (B)2 ครั้ง ตามสูตร 30:2